นิทรรศการนี้เริ่มต้นจากความสงสัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของการใช้รูปร่างของผู้หญิงเป็นภาพเเทนความคิด ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างเเพร่หลายในวัฒนธรรมที่มองเห็น (visual culture) ในปัจจุบัน เช่น อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ รูปประติมากรรมวีนัสแห่งวิลเลนดอร์ฟ ภาพวาดโมนาลิซา หรือพระแม่ธรณีบีบมวยผมที่คนไทยคุ้นเคยกันดี รูปสัญลักษณ์เหล่านี้ชวนให้เราตั้งคำถามว่าเรารับรู้ความเป็นหญิงอย่างไรบ้าง และเราให้ความหมายอะไรบ้างกับร่างกายของผู้หญิง คำถามเหล่านี้นำไปสู่ประเด็นเรื่องร่างกายของผู้หญิงในบริบทร่วมสมัย: เมื่อพูดถึงร่างกายของผู้หญิง ภาพอะไรปรากฏขึ้นในใจคุณ?
เพื่อสำรวจประเด็นนี้ เราได้เชิญให้ ศิลปิน 4 ท่าน สร้างผลงานที่เชื่อมโยงกับประเด็นร่วมเดียวกัน คือร่างกายของผู้หญิง การที่แต่ละคนทำงานจากมุมมองที่แตกต่างกันช่วยให้เราได้มองเห็นหลายแง่มุมของความเป็นหญิงในปัจจุบัน
ผลงานของ แก้วตระการ จุลบล กล่าวถึงร่างกายของผู้หญิงในฐานะผู้ให้การเลี้ยงดู ซึ่งสอดคล้องกับคำที่ Jane Richardson Hanks ใช้อธิบายความเป็นแม่ในสังคมกรุงเทพฯ ช่วงปีทศวรรษที่ 1960 ในการศึกษาทางมานุษยวิทยาของเธอ ตามคำกล่าวของ Hanks ร่างกายของผู้หญิง ในงานของแก้วตระการ คือ “ผู้เลี้ยงดูและต่อชีวิต” และความเป็นหญิงคือการเป็น “ผู้พิทักษ์แห่งการเติบโตและผู้ดูแลพลังของชีวิต” (Hanks 1963, P. 71)
ส่วนผลงานประติมากรรมของ ลักษณ์ ใหม่สาลี แม้จะเป็นการล้อเลียนวงการศิลปะในปัจจุบัน แต่ก็สะท้อนประวัติศาสตร์อันยาวนานที่มนุษย์ใช้ร่างกายของผู้หญิงเพื่อเป็นตัวแทนแนวคิดนามธรรม เช่น ความอุดมสมบูรณ์ การฟื้นฟู ความสง่างาม หรือเสรีภาพ ในอีกมุมหนึ่ง
ผลงานของ ปริชาติ ศุภพันธ์ ถ่ายทอดความเป็นหญิงผ่านสีสันสดใสและการขับเน้นส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ริมฝีปาก หน้าอก และสะโพก ซึ่งทำให้เราระลึกถึงความเชื่อมโยงที่แนบแน่นระหว่างความเป็นหญิงกับแฟชั่นและความงาม ทั้งยังเตือนให้เห็นว่ามีเพียงสไตล์บางอย่างเท่านั้นที่ถูกมองว่าเหมาะสม
สุดท้าย ผลงานของ มาริษา ศรีจันเเปลง สำรวจบาดแผลที่เหลือไว้บนร่างกายของญาติผู้หญิงในช่วงระบอบเขมรแดง โดยเปรียบร่างกายของผู้หญิงเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์และรวบรวมบาดเเผลทางใจในครอบครัว
จากกลุ่มศิลปินเล็กๆ กลุ่มนี้ เราได้เรียนรู้ว่า ร่างกายผู้หญิงมีความหลากหลายทางความหมายอย่างยิ่ง บางผลงานสานต่อประเพณีที่มีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในขณะที่บางผลงานเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ที่เราอาจไม่เคยเชื่อมโยงกับความเป็นหญิงมาก่อน ในโลกที่เเนวคิดเกี่ยวกับเพศมีอิทธิพลอย่างมากต่อวิธีการมองโลกของเรา นิทรรศการนี้จึงเชิญชวนให้คุณลองสะท้อนว่าเราสามารถมองโลกในมุมมองที่แตกต่างออกไปได้หรือไม่ และเราจะนิยามและชื่นชมความเป็นหญิงและร่างกายของผู้หญิงในบริบทใหม่ได้อย่างไร
ภัณฑารักษ์ โรส บรรณรส
MANY FACES OF HER ART EXHIBITION Opening Event on 6 February 2025 18.00pm.
Exhibition held: 6 February – 27 April 2025
Venue: noble PLAY / BTS เพลินจิต
Organized by 333Artlink